การศึกษาประสิทธิภาพของการฉีดยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนที่ Adductor Canal ร่วมกับ การฉีดยาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดเทียบกับการฉีดยาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดอย่างเดียว เพื่อลดปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สวรรยา ทวีปัญญายศ
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการทำ adductor canal block (ACB) ร่วมกับ local infiltration analgesia (LIA) เทียบกับ การทำ LIA อย่างเดียว ในการลดปวดผู้ป่วยที่มาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (TKA) โดยวัดผลจากการได้รับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioids) ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด คะแนนความปวดขณะพักและขณะเคลื่อนไหวเข่า ที่เวลา 6, 12, 18, และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เวลาที่ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์ครั้งแรกหลังผ่าตัด ระยะเวลานอนโรงพยาบาล ผลข้างเคียงของโอปิออยด์ และความพึงพอใจของผู้ป่วย
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม ในกลุ่มผู้ป่วยที่มาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทำการสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 27 ราย รวม 54 ราย กลุ่มที่หนึ่ง ที่ได้รับการทำ ACB ร่วมกับ LIA (ACB + LIA) และกลุ่มที่สอง ได้รับการทำ LIA อย่างเดียว
          ผลการศึกษา: คะแนนความปวดขณะพักที่ 6 ชั่วโมง ACB + LIA = 3.59 ± 3.05: LIA = 6.81 ± 2.74; 12 ชั่วโมง ACB + LIA = 3.70 ± 3.16: LIA = 6.59 ± 2.87; และ 18 ชั่วโมง ACB + LIA = 4.07 ± 3.08: LIA = 5.74 ± 2.53 คะแนนความปวดขณะเคลื่อนไหวเข่า ที่ 6 ชั่วโมง ACB + LIA = 4.40 ± 3.46: LIA = 7.75 ± 2.77; 12 ชั่วโมง ACB + LIA = 5.11 ± 3.05: LIA = 7.33 ± 2.71 ทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .01) และคะแนนความพึงพอใจของทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = .04) เมื่อเปรียบเทียบ ปริมาณการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ เวลาที่ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์ครั้งแรกหลังผ่าตัด ผลข้างเคียงของโอปิออยด์ คะแนนความปวดขณะพักที่ 24 ชั่วโมง คะแนนความปวดขณะเคลื่อนไหวเข่าที่ 18 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง ระยะเวลานอนโรงพยาบาล พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การฉีดยาชาที่ adductor canal ร่วมกับการฉีดยาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัด (LIA) เทียบกับการทำ LIA อย่างเดียว ไม่พบความแตกต่างของปริมาณการได้รับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (TKA) แต่ช่วยลดคะแนนความปวด และผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากกว่า
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2567, July-September ปีที่: 43 ฉบับที่ 3 หน้า 379-391
คำสำคัญ
Total knee arthroplasty, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, local infiltration analgesia, Adductor canal block, การฉีดยาชาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัด, การฉีดยาชาที่ adductor canal