ผลของยา Dexmedetomidine ต่อการตอบสนองของอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต สำหรับการระงับความรู้สึกผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ: การศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมปกปิดสองทาง
เผด็จ บุญมาก*, จิราภรณ์ พุกซื่อตรง
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของยา Dexmedetomidine ร่วมกับการระงับความรู้สึกสำหรับผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ ต่ออัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตในช่วงใส่ท่อหายใจ ลงมีดผ่าตัด และตัดกระดูก Sternum และศึกษาปริมาณยา Nicardipine ที่ใช้เพื่อลดความดันซิสโตลิกให้ได้ 80-90 มิลลิเมตรปรอท ก่อนใส่ Aortic Cannulation เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมโดยมีการปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง (Randomized double-blind controlled trial) ในผู้ป่วย อายุ 40-75 ปี, ASA Physical Status II-III ที่มารับการผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจ (CABG) ในโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2566 ทั้งหมด 60 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน กลุ่ม Dexmedetomidine จะได้รับ รับยาในขนาด 1 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 10 นาทีต่อด้วย 0.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อชั่วโมง กลุ่มควบคุมจะได้รับ Normal Saline ในอัตราเร็วที่เท่ากัน ควบคุมความลึกของการสลบให้ได้ BIS 40-50 เปรียบเทียบอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันซิสโตลิก ความดันไดแอสโตลิก และความดันโลหิตเฉลี่ยในช่วงใส่ท่อหายใจ ลงมีดผ่าตัดและตัดกระดูก Sternum ขนาดยา Nicardipine เพื่อทำให้ความดันซิสโตลิก 80-90 มิลลิเมตรปรอท ก่อนทำ Aortic Cannulation
ผลการศึกษา: อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยของกลุ่ม Dexmedetomidine น้อยกว่ากลุ่มควบคุมทั้งในช่วงหลังใส่ท่อหายใจ 1 นาที (66±12.2 และ 88±19.4) 3 นาที (63±10.8 และ 81±18.4) 5 นาที (61±10.2 และ 77±16.1) หลังลงมีดผ่าตัด1 นาที (63±11.2 และ 85±17.3) 3 นาที (63±12.1และ 81±16.3) 5 นาที (63±10.0 และ 77±17.4) และหลังตัดกระดูก Sternum 1 นาที (66±12.1 และ 81±18.5) 3 นาที ( 65±12.0 และ 76±18.5) ที่ 5 นาที (65±11.1 และ 76±15.8) และมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.01) ความดันซิสโตลิก ความดันไดแอสโตลิก และความดันโลหิตเฉลี่ยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่ม Dexmedetomidine ใช้ยา Nicardipine เฉลี่ยเพื่อลดความดันซิสโตลิกให้ได้ 80-90 มิลลิเมตรปรอท น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.27±0.1 และ 0.5±0.2 มิลลิกรัม: p-value<0.01)
สรุป: Dexmedetomidine มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ (CABG) แต่ไม่มีผลลดความดันโลหิตเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และมีผลลดปริมาณการใช้ Nicardipine เพื่อลดความดันซิสโตลิก ก่อนทำ Aortic Cannulationเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
 
ที่มา
Region 3 Medical and Public Health Journal ปี 2567, July-September ปีที่: 21 ฉบับที่ 3 หน้า 138-148
คำสำคัญ
Intubation, การใส่ท่อหายใจ, Dexmedetomidine, Skin Incision, sternotomy, การลงมีดผ่าตัด, การตัดกระดูก Sternum